วันจันทร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2554

บอระเพ็ด

บอระเพ็ด หวานเป็นลมขมเป็นยา(อายุวัฒนะ)

tinospora บอระเพ็ด หวานเป็นลมขมเป็นยา(อายุวัฒนะ)
บอระเพ็ด
“หวานเป็นลมขมเป็นยา” คำพังเพย ที่เปรียบเปรย ถึงวาจาที่ขาดความจริงใจนั้น มีพิษร้ายเหมือนน้ำตาลหรือขนมหวานเจี๊ยบ  ที่เรากินของหวานเหล่านี้ครั้งละมากๆ  อาจทำให้เป็นลมได้

ในทางวิทยาศาสตร์ยืนยันได้ว่า คำกล่าวเช่นนี้เป็นความจริงอย่างยิ่ง  เพราะการที่มีน้ำตาลเข้าไปในกระแส เลือดอย่างรวดเร็ว ก็จะไปกระตุ้นให้ร่างกาย มีกลไกที่หลั่งสารมาลดน้ำตาลอย่างฉับพลัน   มีผลให้น้ำตาลในเลือดต่ำจนเป็นลมได้เช่นกัน
ส่วนของขมๆ นั้นมีประโยชน์ต่อร่างกาย เหมือนกับคำพูดที่ตรงไปตรงมา  อาจทำความขมขื่นใจให้ผู้รับฟัง แต่ก็จะเป็นประโยชน์ในการแก้ไขข้อผิดพลาด  เหมือนกับยาที่รักษาโรคภัยต่างๆ
พอพูดถึงความขม  ใครๆ ก็ต้องนึกถึงบอระเพ็ดเป็นอันดับแรก  สมัยก่อนเวลาที่แม่ต้องการให้ลูกหย่านม เพราะลูกโตจนวิ่งได้แล้วก็ยังวิ่งมาเลิกเต้าดูดนมแม่อยู่  แม้แม่จะไม่ค่อยมีน้ำนมแล้วก็ตาม แม่จะเอาบอระเพ็ดมาทาที่หัวนมให้เจ้าลูกไม่รู้จักโตดูดเสียให้เข็ด สุดท้ายต้องยอมแพ้เลิกดูดนมแม่แต่โดยดี
ด้วยความที่มีรสขม บอระเพ็ด จึงเป็นสัญญลักษณ์ของยา   คนสมัยก่อนทุกคนจะรู้ว่าบอระเพ็ดเป็นยาอายุวัฒนะ  บางคนก็เคี้ยวกินสดๆ  บางคนก็ทำเป็นยาลูกกลอนผสมน้ำผึ้งไว้กินทุกวัน  หรือผสมกับยาตัวอื่นๆ
ชาวอีสานนิยมกินยาต้มบำรุงสุขภาพ  มีหลายตำรับที่เข้าบอระเพ็ด  เช่นตำรับที่ว่า“ตักบ่เต็ม  เค็มบ่จืด  มืดบ่แจ้ง กอมบ่ลา” ขยายความก็คือ  ตักบ่เต็ม  คือ ต้นกะบก  เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ เนื้อในเมล็ดกะบกกินได้ มันๆ อร่อยเลยละ  เราจะพอได้เห็นเมล็ดกะบกคั่ววางขายคู่กับมะขามป้อม  หินขัดเท้า  อยู่แถวสะพานลอยในกรุงเทพฯ หรือที่สวนจตุจักร ส่วน เค็มบ่จืด ก็คือต้นมะเกลือ เป็นต้นไม้ใหญ่ที่ผลสามารถที่จะใช้เป็นยาขับพยาธิได้
อีกต้น มืดบ่แจ้ง คือต้นหมากหม้อ  ต้นนี้ดูเหมือนไม่มีชื่อทางกรุงเทพฯ เป็นต้นไม้ที่ลูกสีดำสนิทเหมือนก้นหม้อสมัยก่อน  ลูกกินได้ รสหวานเอียนๆ
ตัวสุดท้ายกอมบ่ลา หมายถึง  ความขมที่ไม่สร่างก็คือ บอระเพ็ดนั่นเอง  เขาจะใช้แก่นของต้นไม้และเถาบอระเพ็ด ต้มรวมกันกินเป็นชา  ชาวบ้านจริงๆ เขาไม่มีสภากาแฟแต่มีสภายาต้ม  ยามเย็นกินยาต้มกันไป  โสกันไป  ถึงสารทุกข์สุกดิบ  และปัญหาต่างๆ ของชุมชน  นั่นเป็นอดีตของชุมชนที่ไม่มีทีวีมากรอกหูให้ซื้อนั่นใช้นี่  จนทุกวันนี้
ไม่มีเวลาที่จะคิดหรือโสกันอีกต่อไป  ยาต้มบำรุงสุขภาพในยามเย็นก็พลอยถูกลืมเลือน
สังคมที่เปลี่ยนไป นำพาโรคภัยใหม่ๆ เข้ามาตามยุคสมัย โรคเบาหวานที่ไม่เคยปรากฎได้มีขึ้นทั่วทุกหัวระแหงตามสภาพความอยู่ดีกินดี  คนที่เป็นโรคนี้ก็พยายามใช้ภูมิปัญญาในอดีต  ว่าให้กินของขมๆ อย่าไปกินหวานมากแล้วพวกเขาก็พบว่า เจ้าของขมทั้งหลายนี้ ทำให้อาการของโรคทุเลาลงแม้จะไม่หายขาด
การศึกษาวิจัยในทางวิทยาศาสตร์ก็พบว่า ของขมๆ ทั้งหลาย มีหลายชนิด สามารถที่จะลดน้ำตาลในเลือดได้ เช่น มะระ มะระขี้นก  เป็นต้น  บอระเพ็ดก็เช่นกัน  มีคนไข้โรคเบาหวานหลายคนที่มีประสบการณ์กับตนเอง  พบว่าหากกินบอระเพ็ดเป็นประจำแล้วจะทำให้การคุมน้ำตาลเป็นไปได้ดีขึ้น  จนทำให้โรงพยาบาลศูนย์แห่งหนึ่งที่มีการเปิดบริการสมุนไพร ทำบอระเพ็ดแคปซูลขายให้คนไข้เบาหวานไม่ทัน ในวันที่มีคลินิกเบาหวาน
การศึกษาในห้องทดลองก็มีผลที่น่าสนใจในการลดเบาหวาน  คือ  ได้มีการทดลองนำสารสกัดเถาบอระเพ็ดด้วยน้ำ  ไปทดลองในหนูทั้งหนูปกติและหนูที่ถูกทำให้เป็นเบาหวาน   พบว่าเมื่อผสมสารสกัดในน้ำดื่มขนาด ๔ กรัม/ลิตร  ให้หนูกินเป็นเวลาสองสัปดาห์ เมื่อทดสอบด้วยกลูโคสทอเรอแลนซ์เทส (glucose tolerance)  พบว่าดีขึ้นกว่าก่อนให้ยา แสดงว่ามีผลลดน้ำตาลในเลือด  และพบว่ามีปริมาณอินซูลินเพิ่มมากขึ้น และยังพบว่าสารสกัดบอระเพ็ดกระตุ้นให้เซลตับอ่อนของหนูขาวและคนหลั่งอินซูลิน  กล่าวคือ การลดเบาหวานของบอระเพ็ด จะมาจากระบวนการกระตุ้นให้มีการหลั่งอินซูลินนั่นเอง
จากรายงานการทดลองดังกล่าว แม้จะยังไม่มีการศึกษาในทางคลินิกที่ทดลองกับผู้ป่วยเบาหวานแต่การกิน   บอระเพ็ดเป็นประจำเพื่อควบคุมโรค คงพอที่จะเป็นทางเลือกให้กับผู้ป่วยเหล่านี้   เพราะเบาหวานเป็นโรคที่ไม่หายขาด และจะมีอาการมากขึ้น จนต้องเพิ่มขนาดของยาแผนปัจจุบันขึ้นเรื่อยๆ  แม้จะควบคุมอาหารดีปานใดก็ตาม
การกินบอระเพ็ดไม่มีพิษภัยอันใด (มีผลการทดลองทางวิทยาศาสตร์ยืนยัน)  ถือว่ากินเป็นยาบำรุงสุขภาพเหมือนที่คนรุ่นก่อน เขากินกันเป็นประจำ แล้วก็วัดระดับน้ำตาลสม่ำเสมอ คุมอาหารเหมือนๆ เดิม คนที่ใช้ก็จะรู้เองว่า  หลังจากกินบอระเพ็ดแล้วเป็นเช่นใด
บอระเพ็ดเป็นพืชที่ขึ้นง่าย เอาเถาสั้นๆ มาวางเหนือดินเล็กน้อย รดน้ำให้ชุ่ม หาที่เลื้อยสักพักก็เลื้อยเต็มไปหมด  การนำบอระเพ็ดมาทำยา เพียงนำเถามาหั่นตากแดดให้แห้ง นำไปบดเป็นผง ทำเป็นลูกกลอน ขนาดเท่าเม็ด  พุทราไทย กินครั้งละ ๑ เม็ด วันละ ๓ เวลา หรือนำไปบรรจุใส่แคปซูลเบอร์ศูนย์ (ประมาณ ๓๐๐ มิลลิกรัมต่อแคปซูล)  กินครั้งละ ๑-๒ แคปซูล วันละ ๓ เวลา หรือคนไข้เบาหวานบางคนแน่มาก กินเป็นผงๆ ครั้งละช้อนชา วันละ ๓ เวลาก็ได้
ข้อมูลบางส่วนคัดลอกมาจาก khonnaruk.com
สรรพคุณบอระเพ็ดตัวผู้และตัวเมีย
boraped บอระเพ็ด หวานเป็นลมขมเป็นยา(อายุวัฒนะ)
บอระเพ็ด
ชิงช้าชาลี ( บอระเพ็ดตัวผู้ )เถา รสขม สรรพคุณ แก้พิษฝีดาษ แก้ไข้เหนือ ไข้เพื่อโลหิต แก้ฝีกาฬ บำรุงกำลัง บำรุงธาตุ
เจริญอาหาร ทำให้เลือดเย็น แก้มะเร็ง
ใบ รสขมเมา สรรพคุณ ฆ่าพยาธิผิวหนัง แก้มะเร็ง
ดอก รสขมเมา สรรพคุณ ขับพยาธิในท้อง แก้รำมะนาด ปวดฟัน แก้แมลงเข้าหู
บอระเพ็ด ( บอระเพ็ดตัวเมีย )เถา รสขม สรรพคุณ แก้พิษฝีดาษ ไข้เหนือ ไข้พิษ แก้ร้อนในกระหายน้ำ ทำให้เนื้อเย็น
แก้สะอึก บำรุงกำลัง บำรุงน้ำดี บำรุงไฟธาตุ
ใบ รสขมเมา สรรพคุณ ฆ่าพยาธิไส้เดือน ฆ่าแมลงเข้าหู แก้รำมะนาด ปวดฟัน
ลูก รสขม สรรพคุณ แก้ไข้ แก้เสมะเป็นพิษ
ราก สรรพคุณ แก้ไข้สูงมีอาการเพ้อคลั่ง
ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Tinospora crispa  (L.) Miers ex Hook.f.& Thomson
วงศ์ :   Menispermaceae
ชื่ออื่น :  ตัวเจตมูลยาน เถาหัวด้วน (สระบุรี) หางหนู (สระบุรี,อุบลราชธานี) จุ่งจิง เครือเขาฮอ (ภาคเหนือ) เจตมูลหนาม (หนองคาย)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :  ไม้เถาเลื้อยพาดพันต้นไม้อื่น เถากลมมีขนาดใหญ่เป็นปุ่มปม สีเทาอมดำ มีรสขม เปลือกลอกออกได้ ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปหัวใจ ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบ สีเขียว ก้านใบยาว 8-10 ซม. ดอก ออกตามซอกใบ ดอกแยกเพศอยู่คนละช่อ ดอกสีเขียวอมเหลือง มีขนาดเล็กมาก ผล รูปทรงค่อนข้างกลม สีเหลืองหรือสีแดง
เกร็ดความรู้บอระเพ็ดเป็นไม้เลื้อยที่พบโดยทั่วไปตามป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณและสามารถปลูกได้ง่าย แม้แต่ตัดเถาไปห้อยตามต้นไม้ก็ยังงอกรากลงดินได้ คนไทยทุกภาคเชื่อว่าบอระเพ็ดเป็นยาบำรุงสุขภาพเป็นยาอายุวัฒนะบำรุงกำลังช่วยขับน้ำย่อยทำให้เจริญอาหาร คนโบราณหาทางกินบอระเพ็ดได้หลายวิธี เช่น ใช้ดองน้ำผึ้งกินเป็นประจำเป็นยาอายุวัฒนะกินแล้วร่างกายแข็งแรงไม่เจ็บป่วยง่าย ผู้ป่วยเบาหวานพบว่าการกินร่วมกับยาแผนปัจจุบันสามารถควบคุมปริมาณน้ำตาลได้ดีมาก (แต่ไม่ได้งดยาแผนปัจจุบัน) บางคนผมร่วงกินผงบอระเพ็ดวันละ 400 ถึง 800 มิลลิกรัม(1 ถึง 2แคปซูล) สัก 1 เดือนผมมีแนวโน้มที่จะดกหนาตามปกติ บางคนที่ผมหงอกก่อนวัยกินแล้วพบว่าผมหงอกน้อยลง
สรรพคุณบอระเพ็ดที่ชาวบ้านใช้กันอย่างแพร่หลาย คือ การตำบอระเพ็ดทั้งใบและต้นคั้นน้ำผสมน้ำซาวข้าวชโลมผมทิ้งไว้เพื่อแก้ปัญหาเรื่องเส้นผมและหนังศรีษะ แก้ผมหงอกก่อนวัย แก้รังแค รายงานการศึกษาทางวิทยาศาสตร์พบว่า บอระเพ็ดมีสารต้านอนุมูลอิสระซึ่งการมีฤทธิ์เช่นนี้ก็สามารถ ป้องกันความชราของเซลล์ต่าง ๆ จึงเป็นไปได้ที่บอระเพ็ดจะมีประโยชน์ต่อเส้นผมอย่างที่โบราณเขาเชื่อกันจริง ๆ
ผลงานการวิจัย1.ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดพบว่าสารสกัดจากลำต้นบอระเพ็ดด้วย 95% เอธานอล มีฤทธิ์ทำให้ oral glucose tolerance (OGT) ของหนูขาวปกติดีขึ้นเมื่อเปรียบกับกลุ่มควบคุมโดยระดับน้ำตาลจะลดลง 12.15% และ 12.84% หลังจากป้อนสารสกัดให้กับหนูขาว 4 และ 6 ชั่วโมงตามลำดับ อย่างไรก็ตามสารสกัดดังกล่าวไม่มีผลลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูขาวปกติในทุก ๆ ความเข้มข้นที่ใช้ทดลอง (กัลยาและคณะ,2541) สารสกัดจากชั้นน้ำของลำต้นบอระเพ็ดสามารถลดระดับกลูโคสในเลือดและเพิ่มระดับ insulin ในเลือดในหนูที่เป็นเบาหวานได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมแต่ไม่มีผลในหนูปกติ(Noorandcroft,1989) กลไกในการออกฤทธิ์ของสารสกัดจากบอระเพ็ดพบว่าออกฤทธิ์โดยการกระตุ้นการหลั่ง insulin ที่เบตาเซลล์ทำให้เบตาเซลล์มีความไวต่อความเข้มข้นของ Ca2+ ภายนอกเซลล์ส่งเสริมให้เกิดการสะสมของ Ca2+ใน เซลล์และทำให้เกิดการหลั่งของ insulin โดยไม่รบกวนการดูดซึมของกลูโคสจากทางเดินอาหารและไม่รบกวนการนำกลูโคสเข้า peripheral cell
2.ฤทธิ์ลดไข้มีรายงานการศึกษาฤทธิ์ลดไข้ของสารสกัดจากชั้นน้ำของลำต้นบอระเพ็ดในหนูขาวเพศผู้ที่ถูชักนำให้เกิดไข้ด้วยวัคซีนไทฟอยด์ขนาด 0.6ml./ตัวพบว่าสารสกัดบอระเพ็ดขนาด 300,200,100 mg./kg. น้ำหนักตัวสามารถลดไข้ได้หลังป้อนสารสกัดบอระเพ็ดในชั่วโมงที่1,2 และตามลำดับแต่มีประสิทธิภาพอ่อนกว่า แอสไพริน (บุญเทียมและคณะ,1994)
3.ฤทธิ์ช่วยเจริญอาหารเนื่องจากความขมของบอระเพ็ดจึงสามารถใช้เป็นยาที่ทำให้เจริญอาหารได้ (รุ่งระวีและคณะ,2529)
4.ฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระมีรายงานการศึกษาฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระของบอระเพ็ดพบว่าสารสกัด 3 ชนิด ได้แก่ N-trans-feruloyltyramine, N-cisferuloyltyramine, secoisolariciresinol มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระมากกว่า BHT ซึ่งใช้เป็นสารมาตรฐาน (Cavin et al.,1997)
5.ฤทธิ์ ในการต้านมาลาเรียมีรายงานการ ศึกษาฤทธิ์ในการต้านมาลาเรียของสารสกัดในชั้นเมธานอลและคลอโรฟอร์มพบว่าไม่มีฤทธิ์ในการต้านมาลาเรีย (Rahman etal.,1999)
6.ฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรียมีการศึกษาฤทธิ์ในการต้านแบคทีเรียของสารสกัดจากใบและลำต้นในชั้นเอธานอลของบอระเพ็ดต่อเชื้อ Staphylococcus aureus beta-Streptococcus gr.A Klebsiella pneumoniae และ Pseudomonas aeruginosa พบว่าสารสกัดจากชั้นเอธานอลของลำต้นบอระเพ็ดมีฤทธิ์ในการต้าน betastreptococcus gr.A (Laorpaksa et al., 1988) พิษวิทยา

การทดสอบความเป็นพิษ(Chavalittumrong,1997)- การทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันจากการศึกษาพิษเฉียบพลันของสารสกัดด้วยเอธานอลของลำต้นบอระเพ็ด โดยให้ทางปากแก่หนูถีบจักรพบว่าเมื่อให้สารสกัดในขนาด 4g ต่อน้ำหนักหนู 1 kg. (g./kg.) หรือเทียบเท่ากับลำต้นแห้ง 28.95 g./kg. ไม่ทำให้เกิดอาการพิษ
-การทดสอบความเป็นพิษเรื้อรัง จากการศึกษาพิษเรื้อรังของสารสกัดด้วยเอธานอลโดยการกรอกสารสกัดของบอระเพ็ดขนาดต่าง ๆ แก่หนูขาว ติดต่อกันเป็นเวลา 6 เดือน พบว่า สารสกัดในขนาด 0.02 g/น้ำหนักหนู 1 kg./day (g./kg./day) ซึ่งเทียบเท่ากับขนาดที่ใช้ในคนไม่มีผลต่อการเจริญเติบโตหรือการกินอาหารของหนู และไม่ทำให้เกิดความผิดปกติของค่าทางโลหิตวิทยาหรือค่าทางชีวเคมีของซีรั่ม รวมทั้งไม่ทำให้เกิดพยาธิสภาพของอวัยวะภายในต่าง ๆ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมแต่หนูที่ได้รับสารสกัดในขนาด1.28 g./kg./day หรือ 64 เท่าของขนาดที่ใช้ในคนมีอัตราการเกิด bile duct proliferationและ focal liver cell hyperplasia รวมทั้งมีค่าของเอนไซม์ alkaline hosphatase และ alanine aminotransferase และ ค่าครีอะตินินสูงกว่ากลุ่มควบคุมแสดงให้เห็นว่าสารสกัดบอระเพ็ดในขนาดต่ำ เช่น ขนาดที่ใช้ในคนไม่ทำให้เกิดความผิดปกติใด ๆ ในสัตว์ทดลองแต่ในขนาดที่สูงอาจทำให้เกิดความผิดปกติของการทำงานของตับและไตได้


วิธีการใช้ตามภูมิปัญญาไทย1.ใช้เถาบอระเพ็ดหั่นตากแห้ง แล้วบดเป็นผงผสมกับน้ำผึ้งปั้นเป็นลูกกกลอนกินก่อนนอน วันละ 2-4 เม็ด ใช้เป็นยาอายุวัฒนะใช้เถาสดดองเหล้าความแรง 1 ใน 10 รับประทานครั้งละ 1 ช้อนชาของยาที่เตรียม
2.กินบอระเพ็ดสดวันละ 2 องคุลีทุกวัน เป็นยาขมช่วยให้เจริญอาหาร และป้องกันไข้มาเลเรีย
3.เป็นยาขมแก้ไข้ นำเถาบอระเพ็ดมาตากแห้งบดเป็นผงปั้นเป็นลูกกลอนกินวันละ 3 เวลาก่อนอาหารถ้าบรรจุแคปซูล กินวันละ 2-3 เวลา หรือใช้เถาสดยาว 2-3 คืบ (30-40 กรัม) ใส่น้ำท่วมยานำไปต้มแล้วดื่มหรือต้มเคี่ยวกับน้ำ 3 ส่วน ต้มจนเหลือ 1 ส่วน ดื่มก่อนอาหาร วันละ 2-3 ครั้งเมื่อมีไข้ (ยุวดี จอมพิทักษ์, 2532)
4.ใช้เถาหรือต้นสดครั้งละ 2 คืบครึ่ง (30-40 กรัม) ตำแล้วคั้นเอาน้ำดื่ม หรือต้มกับน้ำโดยใช้น้ำ 3 ส่วน ต้มเคี่ยวให้เหลือ 1 ส่วน ดื่มก่อนเวลาช่วยลดไข้
5.ใช้รากและเถา ตำผสมมะขามเปียกและเกลือหรือดองเหล้ารับประทานครั้งละ 1 ช้อนชา แก้ไขลดความร้อน (ยุวดี จอมพิทักษ์, 2532)
6.ใช้เถาที่โตเต็มที่ตากแห้งแล้วบดเป็นผงใช้ผงครั้งละ 1 ช้อนชา ชงน้ำร้อนดื่ม วันละ 2 เวลา เช้า-เย็น หรือใส่ในแคปซูลเพื่อให้สะดวกในการใช้ ใช้รักษาโรคเบาหวาน

ข้อมูลบางส่วนจากจาก gooherb

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น